คุณสมบัติของผู้ทรงภูมิปัญญาไทย
ผู้ทรงภูมิปัญญาไทยเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ อย่างน้อยดังต่อไปนี้
(๑) เป็นคนดีมีคุณธรรม มีความรู้ความสามรถในวิชาชีพต่างๆ มีผลงานด้านการพัฒนาท้องถิ่นของตน และได้รับการยอมรับจากบุคคลทั่วไปอย่างกว้างขวาง ทั้งยังเป็นผู้ที่ใช้หลักธรรมคำสอนทางศาสนาของตนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการดำรงวิถีชีวิตโดยตลอด
(๒) เป็นผู้คงแก่เรียนและหมั่นศึกษาความรู้อยู่เสมอ ผู้ทรงคุณปัญญาจะเป็นผู้ที่หมั่นศึกษา แสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอไม่หยุดนิ่งเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบ เป็นผู้ลงมือทำโดยทดลองทำตามที่เรียนมา อีกทั้งลองผิดลองถูก หรือสอบถามจากผู้รู้อื่นๆ จนประสบความสำเร็จเป็นผู้เชี่ยวชาญซึ่งโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละด้านอย่างชัดเจน เป็นที่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงความรู้ใหม่ๆ ที่เหมาะสมนำมาปรับปรุงใช้ชุมชนและสังคมอยู่เสมอ
(๓) เป็นผู้นำของท้องถิ่น ผู้ทรงภูมิปัญญาส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่สังคมในแต่ละท้องถิ่นยอมรับให้เป็นผู้นำ ทั้งผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางราชการ และผู้นำตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถเป็นผู้นำของท้องถิ่นและช่วยเหลือผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
(๔) เป็นผู้ที่สนใจปัญหาของท้องถิ่น ผู้ทรงภูมิปัญญาล้วนเป็นผู้ที่สนใจปัญหาของท้องถิ่น เอาใจใส่ ศึกษาปัญหา หาทางแก้ไข และช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนของตนและชุมชนใกล้เคียงอย่างไม่ย่อท้อ จนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับของสมาชิกและบุคคลทั่วไป
(๕) เป็นผู้ขยันหมั่นเพียร ผู้ทรงภูมิปัญญาเป็นผู้ขยันหมั่นเพียร ลงมือทำงานและผลิตผลงานอยู่เสมอ ปรับปรุงและพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพมากขึ้น อีกทั้งมุ่งทำงานของตนอย่างต่อเนื่อง
(๖) เป็นนักปกครองและประสานประโยชน์ของท้องถิ่น ผู้ทรงภูมิปัญญานอกจากเป็นผู้ที่ประพฤติตนเป็นคนดี จนเป็นที่ยอมรับนับถือจากบุคคลทั่วไปแล้ว ผลงานที่ท่านทำยังถือว่ามีคุณค่า จึงเป็นผู้ที่มีทั้ง “ครองตน ครองคน และครองงาน” เป็นผู้ประสานประโยชน์ให้บุคคลเกิดความรัก ความเข้าใจ ความเห็นใจ และมีความสามัคคีกัน ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นหรือสังคมมีความเจริญ มีคุณภาพชีวิตสูงขึ้นกว่าเดิม
(๗) มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้เป็นเลิศ เมื่อผู้ทรงภูมิปัญญามีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เป็นเลิศ มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและบุคคลทั่วไป ทั้งชาวบ้าน นักวิชาการ นักเรียน นิสิต/นักศึกษา โดยอาจเข้าไปศึกษาหาความรู้ หรือเชิญท่านเหล่านั้นไปเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ได้
(๘) เป็นผู้มีคู่ตรองหรือบริวารดี ผู้ทรงภูมิปัญญา ถ้าเป็นคฤหัสถ์จะพบว่า ล้วนมีคู่ครองที่ดีที่คอยสนับสนุน ช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ให้ความร่วมมือในงานที่ท่านทำ ช่วยให้ผลิตผลงานที่มีคุณค่า ถ้าเป็นนักบวช ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดต้องมีบริวารที่ดี จึงจะสามารถผลิตผลงานที่มีคุณค่าทางศาสนาได้
(๙) เป็นผู้มีปัญญารอบรู้และเชี่ยวชาญจนได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ ผู้ทรงภูมิปัญญา ต้องเป็นผู้มีปัญญารอบรู้และเชี่ยวชาญรวมทั้งสร้างสรรค์ผลง่นพิเศษใหม่ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ต่อสังคมและมนุษย์ชาติอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ
การเกิดภูมิปัญญา
ภูมิปัญญาไทยมีกระบวนการการเกิดที่เกิดจากการสืบทอด ถ่ายทอด องค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ แล้วพัฒนา เลือกสรรค์และปรับปรุงองค์ความรู้เหล่านั้นจนเกิดทักษะและความชำนาญ ที่สามารถแก้ไขปัญหา และพัฒนาชีวิตได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัย แล้วเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เหมาะสมและสืบทอดพัฒนาต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด เช่น ภาษาไทย แพทย์แผนไทย เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น