คุณค่าและความสำคัญของภูมิปัญญาไทย
คุณค่าของภูมิปัญญาไทย ได้แก่ ประโยชน์และความสำคัญของภูมิปัญญา
ที่บรรพบุรุษไทยได้สร้างสรรค์และสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องจากอดีตสู่ปัจจุบัน ทำให้คนในชาติเกิดความรักและความภาคภูมิใจ
ที่จะร่วมแรงร่วมใจสืบสานต่อไปในอนาคต เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ สถาปัตยกรรม ประเพณีไทย
การมีน้ำใจ ศักยภาพในการประสานผลประโยชน์ เป็นต้น ภูมิปัญญาไทยจึงมีคุณค่าและความสำคัญดังนี้
๑.
ภูมิปัญญาไทยช่วยสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น
พระมหากษัตริย์ไทยได้ใช้ภูมิปัญญาในการสร้างชาติ
สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ประเทศชาติมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ทรงปกครองประชาชนด้วยพระเมตตาแบบพ่อปกครองลูก
ผู้ใดประสบความเดือดร้อนก็สามารถตีระฆังแสดงความเดือดร้อนเพื่อขอรับพระราชทานความช่วยเหลือทำให้ประชาชนมีความจงรักภักดีต่อพระองค์ต่อประเทศชาติ
ร่วมกันสร้างบ้านเมืองจนเจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่น
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พระองค์ทรงใช้ภูมิปัญญากระทำยุทธหัตถีจนชนะข้าศึกศัตรู และทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยคืนมาได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
รัชกาลปัจจุบัน พระองค์ทรงใช้ภูมิปัญญาสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และเหล่าพสกนิกรมากมายเหลือคณานับ
ทรงใช้พระปรีชาสามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ จนรอดพ้นภัยพิบัติหลายครั้งพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถหลายด้าน
แม้แต่ด้านการเกษตร พระองค์ได้พระราชทานทฤษฎีใหม่ให้แก่พสกนิกร ทั้งด้านการเกษตรแบบสมดุลและยั่งยืน
ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม นำความสงบร่มเย็นของประชาชนให้กลับคืนมา แนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” แบ่งออกเป็น ๓ ขั้น โดยเริ่มจาก ขั้นตอนแรก
ให้เกษตรกรรายย่อย “มีพออยู่พอกิน” เป็นขั้นพื้นฐาน
โดยการพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นา ซึ่งเกษตรกรจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยราชการ
มูลนิธิ และหน่วยงาน
เอกชน ร่วมใจกันพัฒนาสังคมไทย ในขั้นที่สอง เกษตรกรต้องมีความเข้าใจในการจัดการในไร่นาของตน
และมีการรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์ เพื่อสร้างประสิทธิภาพทางการผลิตและการตลาด การลดรายจ่ายด้านความเป็นอยู่
โดยทรงตระหนักถึงบทบาทขององค์กรเอกชน เมื่อกลุ่มเกษตรวิวัฒน์มาขั้นที่ ๒ แล้ว ก็จะมีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่ขั้นที่
๓ ซึ่งจะมีอำนาจในการต่อรองผลประโยชน์กับสถาบันการเงิน คือ ธนาคาร และองค์กรที่เป็นเจ้าของแหล่งพลังงาน
ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการผลิตโดยมีการแปรรูปผลิตผล เช่น โรงสี เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตผล
และขณะเดียวกันมีการจัดตั้งร้านค้าสหกรณ์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลในสังคมจะเห็นได้ว่า
มิได้ทรงทอดทิ้งหลักของความสามัคคีในสังคมและการจัดตั้งสหกรณ์ ซึ่งทรงสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรสร้างอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจจึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี
จึงจัดได้ว่าเป็นสังคมเกษตรที่พัฒนาแล้ว สมดังพระราชประสงค์ที่ทรงอุทิศพระวรกายและพระสติปัญญา
ในการพัฒนาการเกษตรไทยตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์
๒.
สร้างความภาคภูมิใจ และศักดิ์ศรีเกียรติภูมิแก่คนไทย
คนไทยในอดีตที่มีความสามารถปรากฎในประวัติศาสตร์มีมาก
เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ เช่น นายขนมต้มเป็นนักมวยไทยที่มีฝีมือ เก่งในการใช้อวัยวะทุกส่วน
ทุกท่าของแม่ไม้มวยไทย สามารถชกมวยไทยจนชนะพม่าได้ถึงเก้าคนสิบคนในคราวเดียวกัน แม้ในปัจจุบันมวยไทยก็ยังถือว่า
เป็นศิลปะชั้นเยี่ยม เป็นที่นิยมฝึกและแข่งขันในหมู่คนไทยและชาวต่างประเทศ ปัจจุบันมีค่ายมวยไทยทั่วโลกไม่ต่ำกว่า
๓๐,๐๐๐ แห่ง ชาวต่างประเทศที่ได้ฝึกมวยไทยจะรู้สึกยินดีและภาคภูมิใจ
ในการที่จะใช้กติกาของมวยไทย เช่น การไหว้ครูมวยไทย การออกคำสั่งในการชกเป็นภาษาไทยทุกคำ
เช่น คำว่า “ชก” “นับหนึ่งถึงสิบ”
เป็นต้น ถือเป็นมรดาภูมิปัญญาไทย นอกจากนี้ ภูมิปัญญาไทยที่โดดเด่นยังมีอีกมากมาย
เช่น มรดกภูมิปัญญาทางภาษาและวรรณกรรม โดยที่มีอักษรไทยเป็นของตนเองมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย
และวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน วรรณกรรมไทยถือว่าเป็นวรรณกรรมที่มีความไพเราะ ได้อรรถรสครบทุกด้าน
วรรณกรรมหลายเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา
ด้านอาหาร อาหารไทยเป็นอาหารที่ปรุงง่าย พืชที่ใช้ประกอบอาหารส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพร
ทีหาได้ว่ายในท้องถิ่นและราคาถูก มีคุณค่าทางโภชนาการ และยังป้องกันโรคได้หลายโรค เพราะส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพร
เช่น ตะไคร้ ขิง ข่า กระชาย ใบมะกรูด ใบโหระพา ใบกะเพรา เป็นต้น
๓.
สามารถปรับประยุกต์หลักธรรมคำสอนทางศาสนาใช้กับวิถีชีวิตได้อย่างเหมาะสม
คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ
โดยนำหลักธรรมคำสอนของศาสนามาปรับใช้ในวิถีชีวิตได้อย่างเหมาะสม ทำให้คนไทยเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน
เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ประนีประนอม รักสงบ ใจเย็น มีความอดทน ให้อภัยแก่ผู้สำนึกผิด ดำรงวิถีชีวิตอย่างเรียบง่ายปกติสุข
ทำให้คนในชุมชนพึ่งพากันได้ แม้จะอดยากเพราะแห้งแล้ง แต่ไม่มีใครอดตาย เพราะพึ่งพาอาศัยกัน
แบ่งปันกันแบบ “พริกบ้านเหนือเกลือบ้านใต้” เป็นต้น ทั้งหมดนี้สืบเนื่องมาจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เป็นการใช้ภูมิปัญญาในการนำเอาหลักของพระพุทะศาสนามาประยุกต์ใช้กับวิถีชีวิตประจำวัน
และดำเนินกุศโลบายด้านต่างประเทศ จนทำให้ชาวพุทธทั่วโลกยกย่องให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางศาสนา
และเป็นที่ตั้งสำนกังานใหญ่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสล.) อยู่เยื้อง ๆ กับอุทยานเบญจสิริ กรุงเทพมหานคร
โดยมีคนไทย (ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรี) ดำรงตำแหน่งประธาน พสล. ต่อจาก ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล
๔.
สร้างความสมดุลระหว่างคนในสังคมและธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
ภูมิปัญญาไทยมีความเด่นชัดในเรื่องของการยอมรับนับถือ
และให้ความสำคัญแก่คน สังคม และธรรมชาติอย่างยิ่ง มีเครื่องชี้ที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนมากมาย
เช่น ประเพณีไทย ๑๒ เดือนตลอดทั้งปี ล้วนเคารพคุณค่าของธรรมชาติได้แก่ ประเพณีสงกรานต์
ประเพณีลอยกระทง เป็นต้น ประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีที่ทำในฤดูร้อนซึ่งมีอากาศร้อน
ทำให้ต้องการความเย็น จึงมีการรดน้ำดำหัว ทำความสะอาดบ้านเรือนและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
มีการแห่นางสงกรานต์ การทำนายฝนว่าจะตกมากหรือน้อยในแต่ละปี ส่วนปประเพณีลอยกระทง คุณค่าอยู่ที่การบูชาระลึกถึงบุญคุณของน้ำ
ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคน พืช สัตว์ ให้ได้ใช้ทั้งบริโภคและอุปโภคในวันลอยกระทง คนจึงทำความสะอาดแม่น้ำ
ลำธาร บูชาแม่น้ำ จากตัวอย่างข้างต้น ล้วนเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสังคมและธรรมชาติทั้งสิ้น
ในการรักษาป่าไม้ต้นน้ำลำธาร
ได้ประยุกต์ให้มีประเพณีการบวชป่า ให้คนเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม
ยังความอุดมสมบูรณ์แก่ต้นน้ำ ลำธาร ให้ฟื้นสภาพกลับคืนมาได้มาก
อาชีพการเกษตรเป็นอาชีพหลักของคนไทยที่คำนึงถึงความสมดุล
ทำแต่น้อยพออยู่พอกินแบบ “เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน” ของพ่อทองดี นันทะ เมื่อเหลือเกินกินก็แจกญาติญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านบ้านใกล้เรือนเคียง นอกจากนี้
ยังนำไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งของอย่างอื่นที่ตนไม่มี เมื่อเหลือใช้จริง ๆ จึงจะนำไปขา อาจกล่าวได้ว่า
เป็นการเกษตรแบบ “กิน-แจก-แลก-ขาย” ทำให้คนในสังคมได้ช่วยเหลือเกื้อกูล
แบ่งปันกัน เคารพรักนับถือ เป็นญาติกันทั้งหมู่บ้าน จึงอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นธรรมชาติไม่ถูกทำลายไปมากนัก
เนื่องจากทำพออยู่พอกิน ไม่โลภมากและไม่ทำลายทุกอย่างผิดกับในปัจจุบัน ถือเป็นภูมิปัญญาที่สร้างความสมดุลระหว่างคน
สังคม และธรรมชาติ
๕.
เปลี่ยนแปลงปรับปรุงได้ตามยุคสมัย
แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไป
ความรู้สมัยใหม่จะหลั่งไหลเข้ามามาก แต่ภูมิปัญญาไทยก็สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับยุคสมัย
เช่น การรู้จักนำเครื่องยนต์มาติดตั้งกับเรือ ใส่ใบพัดเป็นหางเสือ ทำให้เรือสามารถแล่นได้เร็วขึ้น
เรียกว่า เรือหางยาว การรู้จักทำการเกษตรแบบผสมผสาน สามารถพลิกฟื้นคืนธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์แทนสภาพเดิมที่ถูกทำลายไป
การรู้จักออมเงิน สะสมทุนให้สมาชิกกู้ยืม ปลดเปลื้องหนี้สิน และจัดสวัสดิการแก่สมาชิก
จนชุมชนมีความมั่นคง เข้มแข็ง สามารถช่วยตนเองได้หลายร้อยหมู่บ้านทั่วประเทศ เช่น กลุ่มออมทรัพย์คีรีวง
จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดในรูปกองทุนหมุนเวียนของชุมชน จนสามารถช่วยตนเองได้
เมื่อป่าถูกทำลายเพราะถูกตัดโค่นเพื่อปลูกพืชแบบเดี่ยวตามภูมิปัญญาสมัยใหม่ที่หวังร่ำรวยแต่ในที่สึดก็ขาดทุนและมีหนี้สิน
สภาพแวดล้อมสูญเสีย เกิดความแห้งแล้ง คนไทยจึงคิดปลูกป่าที่กินได้ มีพืชสวนพืชป่า ไม้ผล
พืชสมุนไพรซึ่งสามารถมีกินตลอดชีวิตเรียกว่า “วนเกษตร”
บางพื้นที่เมื่อป่าชุมชนถูกทำลาย คนในชุมชนก็รวมตัวกันเป็นกลุ่มรักษาป่า
ร่วมกันสร้างระเบียบกฎเกณฑ์กันเอง ให้ทุกคนถือปฏิบัติได้ สามารถรักษาป่าได้อย่างสมบูรณ์ดังเดิม
เมื่อปะการังธรรมชาติถูกทำลาย
ปลาไม่มีที่อยู่อาศัย ประชาชนสามารถสร้าง “อูหยัม” ขึ้นเป็นปะการังเทียม ให้ปลาอาศัยวางไข่และแพร่พันธุ์ให้เจริญเติบโตมีจำนวนมากดังเดิมได้ถือเป็นการใช้ภูมิปัญญาปรับปรุงประยุกต์ใช้ได้ตามยุคสมัย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น