วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม




 มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหมายถึง การปฏิบัติ การแสดงออก ความรู้ ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งชุมชน กลุ่มชน หรือในบางกรณีปัจเจกบุคคลยอมรับว่า เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของตน มรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรมซึ่งถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งนี้ เป็นสิ่งซึ่งชุมชนและกลุ่มชนสร้างขึ้นมาอย่างสมํ่าเสมอ เพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของตน เป็นปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีต่อธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของตน และทำให้คนเหล่านั้นเกิดความภูมิใจในตัวตนและความรู้สึกสืบเนื่องก่อให้เกิดความเคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์
จำแนกออกเป็น ๗ สาขา ดังนี้ 


๑. สาขาศิลปะการแสดง
การแสดงดนตรี การรำ การเต้น และละครที่แสดงเป็นเรื่องราว ทั้งที่เป็นการแสดงตามขนบแบบแผน มีการประยุกต์เปลี่ยนแปลง และ/หรือ การแสดงร่วมสมัยการแสดงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการแสดงสดต่อหน้าผู้ชม และมีจุดมุ่งหมายเพื่อความงาม ความบันเทิงและ/หรือเป็นงานแสดงที่ก่อให้เกิดการคิด วิพากษ์ นำสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคม  ประเภท 
- ดนตรี หมายถึง เสียงที่ประกอบกันเป็นทำนองเพลง และ/หรือลีลา จังหวะ เครื่องบรรเลงซึ่งมีเสียงดัง ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน หรือเกิดอารมณ์รัก โศก หรือ รื่นเริง เป็นต้น ดนตรีมีบทบาทหน้าที่ในการบรรเลงเพื่อการขับกล่อม ความบันเทิง ประกอบพิธีกรรม และประกอบการแสดง

- การแสดง หมายถึง การแสดงออกทางร่างกาย ท่วงท่าการเครลื่อนไหว ท่าเต้น ท่ารำ การแสดงกิริยาของการเต้น การรำ การเชิด ฯลฯ ซึ่งแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึก และการเล่าเรื่อง การแสดงอาจแสดงร่วมกับดนตรีและการขับร้องหรือไม่ก็ได้
- ดนตรีและการแสดงในพิธีกรรม หมายถึง การผสมผสานระหว่างการแสดง การร้อง การร่ายรำ และดนตรีที่ใช้ประกอบอาชีพ เป็นต้น
- เพลงร้องพื้นบ้าน หมายถึง บทเพลงที่เกิดจากคนในท้องถิ่นนั้นๆ ที่คิดรูปแบบการร้อง การเล่น เป็นบทเพลงที่มีท่วงทำนอง ภาษาที่เรียบง่าย มุ่งความสนุกสนานเพลิดเพลินในโอกาสต่างๆ หรือการร่วมแรงร่วมใจการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในการประกอบอาชีพ
 
๒. งานช่างฝีมือดั้งเดิม 
ภูมิปัญญา ทักษะฝีมือช่าง การเลือกใช้วัสดุ และกลวิธีการสร้างสรรค์ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ สะท้อนพัฒนาการทางสังคม และวัฒนธรรมของกลุ่มชน 
 ประเภท 
- ผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า หมายถึง ผลผลิตที่เกิดจากการทอ ย้อม ถัก ปัก ตีเกลียว ยก จก มัดหมี่ พิมพ์ลาย ขิด เกาะ/ล้วง เพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม แสดงสถานภาพทางสังคม ลวดลายผ้ามีความเกี่ยวข้องกับตำนานพื้นถิ่น ความเชื่อและธรรมชาติ ซึ่งลวดลายดังกล่าวมักเกิดจากเส้นพุ่งเป็นหลัก

- เครื่องจักสาน หมายถึง ภาชนะเครื่องใช้ประจำบ้านของคนไทยทำจากวัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น ไผ่ หวาย หระจูด ลำเจียก โดยนำมาจักและสาน จึงเรียนกว่า เครื่องจักสาน กลวิธีในการทำเครื่องจักสาน ได้แก่ การถัก ผูก รัด มัด ร้อย โดยใช้ตอก หวาย เพื่อให้เครื่องจักสานคงทนและคงรูปอยู่ได้ตามต้องการ
- เครื่องรัก หมายถึง หัตถกรรมที่ใช้รักเป็นวัสดุสำคัญในการสร้างผลงาน เช่น ปิดทองรดน้ำ ภาพกำมะลอ ประดับมุก ประดับกระจกสี ปั้นกระแหนะ และเขิน รักหรือยางรัก มีคุณลักษณะเป็นยางเหนียว สามารถเกาะจับพื้นของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ประสงค์จะทาหรือถมทับหรือเคลือบผิวได้ดี ทำให้เป็นผิวมันภายหลังรักแห้งสนิท มีคุณภาพคงทนต่อความร้อน ความชื้น กรดหรือด่างอ่อนๆ และยังเป็นวัสดุที่ใช้เชื่อมสมุก หรือสีเข้าด้วยกัน
- เครื่องปั้นดินเผา หมายถึง หัตถกรรมที่ใช้ดินเหนียวเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต มีทั้งชนิดเคลือบและไม่เคลือบ โดยที่เนื้อดินเหนียวต้องมีส่วนผสมของทรายแม่น้ำที่เป็นทรายเนื้อละเอียดและช่วยให้เนื้อดินแห้งสนิทไม่แตกร้าว ดินเหนียวที่ใช้ทำเครื่องปั้นดินเผาจากที่ต่างๆ ให้สีแตกต่างกัน
- เครื่องโลหะ หมายถึง สิ่งที่มีวัสดุหลักเป็นเหล็ก ทองเหลือง หรือทองแดง เครื่องโลหะที่ทำจากเหล็กนิยมทำ โดยการเผาไฟให้อ่อนตัวและตีเหล็กเป็นรูปทรงต่างๆ เครื่องโลหะที่ทำจากทองเหลืองนิยมนำทองเหลืองมาเผาจนหลอมเหลวแล้วจึงนำไปเทลงในแบบรูปตามลักษณะที่ต้องการแล้วนำมาตกแต่ง ส่วนเครื่องโลหะที่ทำจากทองแดง มีการนำทองแดงมาใช้เป็นโลหะเจือหลักสำหรับผลิตตัวเรือนเครื่องประดับโลหะเงินเจือ
- เครื่องไม้ หมายถึง งานฝีมือช่างที่ทำจากไม้ซุงหรือไม้แปรรูปเป็นท่อน เป็นแผ่น เพื่อใช้ในงานช่างก่อสร้างประเภทเครื่องสับ เครื่องเรือน เครื่องบูชา เครื่องตั้ง เครื่องประดับ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องศาสตรา เครื่องดนตรี เครื่องเล่น และยานพาหนะ โดยอาศัยเทคนิควิธีการแกะ สลัก สับ ขุด เจาะ กลึง ถาก ขูด และขัด
- เครื่องหนัง หมายถึง งานหัตถกรรมพื้นบ้านที่ทำมาจากหนังสัตว์ โดยผ่านกระบวนการหมักและฟอกหนังเพื่อไม่ให้เน่าเปื่อย และให้เกิดความนิ่มนวลสามารถบีบงอได้ตามที่ต้องการ เครื่องหนังนิยมนำไปใช้เกี่ยวกับศิลปะการแสดง รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ที่มีหนังเป็นส่วนประกอบ
- เครื่องประดับ หมายถึง งานช่างฝีมือที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อการตกแต่งให้เกิดความงดงาม เริ่มต้นจากการใช้วัสดุที่พบได้ง่ายในท้องถิ่นนำมาผลิตเป็นเครื่องประดับตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เป็นการใช้อัญมณีและโลหะมีค่าชนิดอื่น
- งานศิลปกรรมพื้นบ้าน หมายถึง งานที่มีการแสดงอารมณ์สะท้อนออกทางฝีมือการช่างให้ประจักษ์เห็นเป็นรูปธรรมเพื่อตอบสนองในด้านการยังชีพและความต้องการคุณค่าด้านความงาม เช่น ภาพเขียน งานปั้น งานแกะสลักงานหล่อ เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์อย่างอื่น หมายถึง งานช่างฝีมือดั้งเดิมที่ไม่สามารถจัดอยู่ใน ๙ ประเภทแรกได้ ซึ่งอาจเป็นงานช่างฝีมือที่ประดิษฐ์หรือผลิตขึ้นจากวัสดุในท้องถิ่นหรือจากวัสดุเหลือใช้ เป็นต้น
 

 ๓. วรรณกรรมพื้นบ้าน 
วรรณกรรมที่ถ่ายทอดอยู่ในวิถีชีวิตชาวบ้านโดยครอบคลุมวรรณกรรมที่ถ่ายทอดโดยวิธีการบอกเล่า และที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร   ประเภท 
- นิทานพื้นบ้าน หมายถึง เรื่องเล่าที่สืบทอดต่อ ๆ กันมา ประกอบด้วย นิทาน เทวปกรณ์/ตำนาน นิทานศาสนา นิทานคติ นิทานมหัศจรรย์ นิทานชีวิต นิทานประจำถิ่น นิทานอธิบายเหตุ นิทานเรื่องสัตว์ นิทานเรื่องผี มุขตลก และเรื่องโม้ นิทานเข้าแบบของไทย

- ประวัติศาสตร์บอกเล่า หมายถึง เรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติการตั้งถิ่นฐาน การอพยพ ความเป็นมา และบุคคลสำคัญของชุมชน
- บทสวดหรือบทกล่าวในพิธีกรรม หมายถึง คำสวดที่ใช้ประกอบในพิธีกรรมต่างๆ เช่น บททำขวัญ คำบูชา คำสมา คำเวนทาน บทสวดสรภัญญ์ คาถาบทอานิสงส์ บทประกอบการรักษาโรคพื้นบ้าน คำให้พร คำอธิษฐาน ฯลฯ
- บทร้องพื้นบ้าน หมายถึง คำร้องที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาในโอกาสต่างๆ เช่น บทกล่อมเด็ก บทร้องเล่น บทเกี้ยวพาราสี บทจ๊อย คำเซิ้ง ฯลฯ
- สำนวนและภาษิต หมายถึง คำพูดหรือคำกล่าวที่สืบทอดกันมามักมีสัมผัส คล้องจองกัน เช่น โวหาร คำคม คำพังเพย คำอุปมาอุปไมย คำขวัญ คติพจน์ คำสบถสาบาน คำสาปแช่ง คำชม คำคะนอง ฯลฯ
- ปริศนาคำทาย หมายถึง คำหรือข้อความที่ตั้งเป็นคำถาม คำตอบ ที่สืบทอดกันมา เพื่อให้ผู้ตอบได้ทายหรือตอบปัญหา เช่น คำทาย ปัญหาเชาวน์ ผะหมี

-ตำรา หมายถึง องค์ความรู้ที่มีการเขียนบันทึกในเอกสารโบราณ เช่น ตำรา โหราศาสตร์ ตำราดูลักษณะคนและสัตว์ ตำรายา ฯล 
 

๔. กีฬาภูมิปัญญาไทย 
การเล่น การกีฬา และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ที่มีการปฏิบัติกันอยู่ในประเทศไทยและมีเอกลักษณ์สะท้อนวิถีไทย 
ประเภท
 - การเล่นพื้นบ้าน หมายถึง การเล่นของคนไทยในแต่ละวัยที่มีวัตถุประสงค์ต่างๆ กันออกไป โดยมีผลลัพธ์สุดท้าย คือ ความรัก ความสามัคคี และความสนุกสนานเพลิดเพลิน

- กีฬาพื้นบ้าน หมายถึง การเล่น และการแข่งขันของคนไทยในแต่ละวัย โดยมีอุปกรณ์และกฎกติกาที่เป็นลักษณะเฉพาะถิ่น
- ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว หมายถึง วิธีการหรือรูปแบบการต่อสู้ที่ใช้ร่างกายหรืออุปกรณ์โดยได้รับการฝึกฝนตามวัฒนธรรมที่ได้รับการถ่ายทอดกันมา

๕. แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล 
การประพฤติปฏิบัติในแนวทางเดียวกันของคนในชุมชนที่สืบทอดต่อกันมาบนหนทางของมงคลวิธี นำไปสู่สังคมแห่งสันติสุขแสดงให้เห็นอัตลักษณ์ของชุมชนและชาติพันธุ์นั้นๆ  
ประเภท 
- มารยาท หมายถึง การประพฤติปฏิบัติที่ดีงามต่อผู้อื่น
- ขนบธรรมเนียบประเพณี หมายถึง การประพฤติปฏิบัติและการกระทำกิจกรรมที่สืบทอดต่อๆ กันมาในวิถีชีวิตและสังคมของชุมชนนั้นๆ
- งานเทศกาล หมายถึง กิจกรรมที่กระทำตามกำหนดเวลาในรอบปี

๖. ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
องค์ความรู้ วิธีการ ทักษะ ความเชื่อ แนวปฏิบัติและการแสดงออกที่พัฒนาขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ 
 ประเภท 
 - อาหารและโภชนาการ
- การแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน
- โหราศาสตร์และดาราศาสตร์
- การจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
- ชัยภูมิและการตั้งถิ่นฐาน

๗. ภาษา
เครื่องมือที่ใช้สื่อสารในวิถีการดำรงชีวิตของชนกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งสะท้อน โลกทัศน์ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชน ทั้งเสียงพูด ตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ที่ใช้แทนเสียงพูด
 ประเภท
- ภาษาไทย หมายถึง ภาษาราชการที่ใช้ในประเทศไทย
- ภาษาไทยถิ่น หมายถึง ภาษาที่ใช้ติดต่อสื่อสารตามท้องถิ่นต่าง ๆ สามารถสื่อความหมาย  สร้างความเข้าใจกันในท้องถิ่นนั้น ๆ โดยแต่ละท้องถิ่นอาจพูดแตกต่างกันไปจากภาษาราชการ ทั้งในด้านเสียง คำ และการเรียงคำ ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นภาคเหนือ ภาษาไทยถิ่นภาคอีสาน ภาษาไทยถิ่น ภาคกลาง และภาษาไทยถิ่นภาคใต้
- ภาษากลุ่มชาติพันธุ์ หมายถึง ภาษาที่ใช้ติดต่อสื่อสารภายในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แบ่งออกเป็น ๕ ตระกูลภาษา ได้แก่ กลุ่มภาษาตระกูลไท กลุ่มภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก กลุ่มภาษาตระกูลจีน ทิเบต กลุ่มภาษาออสโตรเนเชียนติก และกลุ่มภาษาม้ง เมี่ยน

             การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ดำเนินการศึกษาค้นคว้า อนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่ ฟื้นฟู และพัฒนาวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมพื้นบ้านมาอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ โครงการ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะตอบสนองต่อภารกิจดังกล่าว                  
 ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ พ.ศ. ๒๕๕๒ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูล และจัดทำฐานข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยบัจจุบัน ได้มีการจัดเก็บข้อมูลด้านศิลปะการแสดง จำนวน ๓๕๐ เรื่อง ด้านงานช่างฝีมือดั้งเดิม จำนวน ๕๐๐ เรื่อง และด้านมุขปาฐะ จำนวน ๔๐ เรื่อง นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ ๒๔๔๓ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมสนับสนุนให้มีการจัดทำทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในระดับจังหวัด โดยให้ดำเนินการนำร่องในการทำทะเบียนสาขาศิลปะการแสดง งานช่างฝีมือดั้งเดิม วรรณกรรมพื้นบ้านและกีฬาภูมิปัญญาไทย
เพื่อเป็นการต่อยอดการดำเนินงาน กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจึงกำหนดภารกิจในการปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมขึ้น โดยมีกิจกรรมสำคัญ คือ การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญของชาติและเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนให้เกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตน รวมทั้งเป็นการปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ อันจะนำไปสู่การสร้างความรู้ ความเข้าใจ เห็นคุณค่า ยอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุขของคนในสังคมต่อไป

1 ความคิดเห็น: